ประวัติความเป็นมา และหน้าที่สำคัญของราชการไทย
1 min read

ประวัติความเป็นมา และหน้าที่สำคัญของราชการไทย

ข้าราชการ คือ บุคคลซึ่งรับการบรรจุแต่งตั้งให้รับราชการปฏิบัติหน้าที่ และรับเงินเดือนในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ของประเทศไทย ส่วนองค์กรที่บุคคลดังกล่าวปฏิบัติงานอยู่นั้นเรียก ส่วนราชการ

ประวัติความเป็นมา

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวางระเบียบข้าราชการพลเรือนเป็นครั้งแรก ให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2472 เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกสรรผู้มีความรู้และความสามารถเข้ารับราชการ โดยกำหนดให้มีข้าราชการ 3 ประเภท คือ

  • ข้าราชการพลเรือนสามัญ คือ ข้าราชการที่รัฐบาลบรรจุแต่งตั้งไว้ตามระเบียบฯ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นสัญญาบัตร (รองอำมาตย์ตรีขึ้นไป) และชั้นราชบุรุษ
  • ข้าราชการพลเรือนวิสามัญ คือ บุคคลที่รัฐบาลจ้างไว้ให้ทำการเฉพาะอย่าง หรือระยะเวลาชั่วคราว ตั้งแต่พ.ศ. 2518เป็นต้นมา เปลี่ยนให้เรียกว่าลูกจ้างประจำ
  • เสมียนพนักงาน คือ ข้าราชการชั้นต่ำ ซึ่งมีสิทธิได้รับเงินเดือนตามอัตราที่ตั้งไว้

ประเภทของข้าราชการไทย

ข้าราชการในประเทศไทย มีหลายประเภท ได้แก่

  1. ข้าราชการพลเรือน (ข้าราชการพลเรือนสามัญ และข้าราชการพลเรือนในพระองค์)
  2. ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
  3. ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
  4. ข้าราชการทหาร
  5. ข้าราชการตำรวจ
  6. ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
  7. ข้าราชการฝ่ายอัยการ
  8. ข้าราชการรัฐสภา
  9. ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง
  10. ข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
  11. ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
  12. ข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
  13. ข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร
  14. ข้าราชการการเมือง
  15. ข้าราชการส่วนท้องถิ่น

พนักงานอื่นของรัฐ

  • พนักงานรัฐวิสาหกิจ
  • พนักงานราชการ
  • พนักงานมหาวิทยาลัย
  • พนักงานกระทรวงสาธารณสุข
  • พนักงานองค์การมหาชนและองค์การของรัฐอื่นที่ไม่ใช่ส่วนราชการ
  • ลูกจ้างประจำ

ข้าราชการพลเรือน

ข้าราชการพลเรือนสามัญ คือ ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการในกระทรวง ทบวง กรมฝ่ายพลเรือน ซึ่งได้รับการบรรจุแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับปัจจุบันคือ พ.ศ. 2551) แบ่งออกเป็นประเภทย่อย 4 ประเภท คือ ประเภทบริหาร ประเภทอำนวยการ ประเภทวิชาการ และประเภททั่วไป

การคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ จะดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือในบางกรณีอาจมีการมอบหมายให้กรมต้นสังกัด เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกฯ

ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ คือ ข้าราชการพลเรือนในสังกัดสำนักพระราชวัง มีหน้าที่เกี่ยวกับงานในพระองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งได้รับการบรรจุแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน การบรรจุแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา คือ ข้าราชการพลเรือนในสังกัดสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่ไม่รวมถึงสถานศึกษาของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา แบ่งออกเป็นประเภทย่อย 3 ประเภท คือ ประเภทวิชาการ ประเภทผู้บริหาร และประเภททั่วไป ใช้ระบบมาตรฐานกลาง 11 ระดับ ในการจำแนกและกำหนดระดับตำแหน่ง มีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หรือ ก.พ.อ.(เดิมเรียกว่าคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย หรือ ก.ม.)เป็นคณะกรรมการกลางในการบริหารบุคคลและกำกับดูแลข้าราชการ

การคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา จะดำเนินการโดยสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งโดยอิสระ ในปัจจุบันไม่มีการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาแล้ว มีแต่เพียงการบรรจุและแต่งตั้งพนักงานมหาวิทยาลัย เข้ามาแทน

ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา คือ ข้าราชการที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการในสถานศึกษา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

ผู้สอนในหน่วยงานการศึกษา

ประกอบด้วยตำแหน่งต่างๆ ได้แก่

  • ครูผู้ช่วย
  • ครู
  • อาจารย์
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์
  • รองศาสตราจารย์
  • ศาสตราจารย์

ทั้งนี้ตำแหน่งตามข้อ 3-6 จะมีได้เฉพาะในสถานศึกษาที่สอนระดับปริญญา ครูตามข้อ 1 และ 2 แบ่งระดับอัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ดังนี้

  1. ครูผู้ช่วย เป็นตำแหน่งที่บรรจุแต่งตั้งในระดับแรก (เทียบเท่าอาจารย์ 1 ระดับ 5 เดิม ซึ่งในปัจจุบันการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการครูมิได้เริ่มต้นในระดับ 3 หรือ 4 ดังแต่ก่อนแล้ว)
  2. ครู ค.ศ. 1 (เทียบเท่าอาจารย์ 2 ระดับ 6)
  3. ครู ค.ศ. 2 เป็นวิทยฐานะครูชำนาญการ แต่งตั้งจากครู ค.ศ. 1 (เทียบเท่าตำแหน่งอาจารย์ 2 ระดับ 7)
  4. ครู ค.ศ. 3 เป็นวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ แต่งตั้งจากครู ค.ศ. 2 ที่มีผลงานวิชาการผ่านเกณฑ์ (เทียบเท่าตำแหน่งอาจารย์ 3 ระดับ 8)
  5. ครู ค.ศ. 4 เป็นวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ แต่งตั้งจากครู ค.ศ. 3 ที่มีผลงานวิชาการผ่านเกณฑ์ (เทียบเท่าตำแหน่งอาจารย์ 3 ระดับ 9)
  6. ครู ค.ศ. 5 เป็นวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญพิเศษ แต่งตั้งจากครู ค.ศ. 4 ที่มีผลงานวิชาการผ่านเกณฑ์ (เป็นตำแหน่งใหม่ที่ขยายขึ้นมา เทียบเท่าตำแหน่ง อธิบดี ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในอดีต โดยอ้างอิงพรบ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 )

ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษา

ประกอบด้วยตำแหน่งต่างๆ ได้แก่

  • รองผู้อำนวยการสถานศึกษา
  • ผู้อำนวยการสถานศึกษา
  • รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา
  • ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา
  • ตำแหน่งที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น ตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด

บุคลากรทางการศึกษาอื่น

ประกอบด้วยตำแหน่ง ศึกษานิเทศก์ และตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จะมีคณะกรรมการกลางในการบริหารงานบุคคลและกำกับดูแลข้าราชการคือ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาหรือก.ค.ศ.(เดิมเรียกว่า คณะกรรมการข้าราชการครู หรือ ก.ค.)

ข้าราชการทหาร คือ บุคคลที่เข้ารับราชการทหารประจำการ ข้าราชการกลาโหม และพลเรือนที่บรรจในอัตราทหาร ในหน่วยงานทางการทหารซึ่งสังกัดกระทรวงกลาโหมหรือกองทัพไทย(แบ่งเป็น กองบัญชาการกองทัพไทย,กองทัพบก,กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ) มีคณะกรรมการข้าราชการทหาร (กขท.) กำกับดูแลเกี่ยวกับระเบียบข้าราชการทหาร

ข้าราชการฝ่ายทหารยังแบ่งออกเป็น

ข้าราชการทหาร คือ ข้าราชการที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเพื่อปฏิบัติราชการทหาร แบ่งชั้นยศออกเป็นชั้นประทวน (ป.) และชั้นสัญญาบัตร (น.) ซึ่งจะมีชื่อเรียกยศต่างกันตามกองทัพที่สังกัด
ข้าราชการกลาโหมพลเรือน คือ ข้าราชการที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเพื่อปฏิบัติราชการในกระทรวงกลาโหม แต่ไม่ได้มียศแบบข้าราชการทหาร แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ สามัญ และวิสามัญ และแบ่งออกเป็น 2 ชั้นคือ ชั้นสัญญาบัตรและต่ำกว่าชั้นสัญญาบัตร

ข้าราชการตำรวจ

ข้าราชการตำรวจ คือ ข้าราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง มีฐานะเป็นกรม และอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี แบ่งออกเป็นชั้นประทวน (ป.) และชั้นสัญญาบัตร (สบ.)

ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม

ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม คือ ข้าราชการที่บรรจุและแต่งตั้งเพื่อปฏิบัติราชการในศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลยุติธรรม มีคณะกรรมการข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) เป็นคณะกรรมการกลางกำกับดูแล ตามพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ แบ่งออกเป็น

ข้าราชการตุลาการ(ศาลยุติธรรม) คือ ข้าราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและพิพากษาคดีความในศาลยุติธรรม
ดะโต๊ะยุติธรรม คือ ข้าราชการซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลาม
ข้าราชการศาลยุติธรรม คือ ข้าราชการที่ทำหน้าที่ด้านธุรการในสำนักงานศาลยุติธรรม

ข้าราชการฝ่ายอัยการ

ข้าราชการฝ่ายอัยการ คือ ข้าราชการที่บรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการในสำนักงานอัยการสูงสุด (เดิมคือ “กรมอัยการ”) มีคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เป็นคณะกรรมการกลางในการกำกับดูแล ข้าราชการฝ่ายอัยการยังแบ่งออกเป็น

  • ข้าราชการอัยการ
  • ข้าราชการธุรการ ในหน่วยงานของอัยการ

ข้าราชการรัฐสภา

ข้าราชการรัฐสภา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • ข้าราชการรัฐสภาสามัญ คือ ข้าราชการซึ่งรับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประจำ โดยได้รับเงินเดือนในอัตราสามัญ ใช้วิธีการจำแนกและกำหนดประเภทตำแหน่งแบบเดียวกับข้าราชการพลเรือนสามัญ
  • ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง คือ ข้าราชการซึ่งรับราชการในตำแหน่งการเมืองของรัฐสภา

ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง

ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง คือ ข้าราชการที่รับราชการและดำรงตำแหน่งในศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครอง มีคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เป็นคณะกรรมการบริหารงานบุคคล ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง แบ่งออกเป็น

  • ข้าราชการตุลาการศาลปกครอง คือ ข้าราชการที่มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีในศาลปกครอง
  • ข้าราชการสำนักงานศาลปกครอง คือ ข้าราชการที่ทำหน้าที่ด้านธุรการในสำนักงานศาลปกครอง

ข้าราชการฝ่ายศาลรัฐธรรมนูญ

ข้าราชการฝ่ายศาลรัฐธรรมนูญ คือ ข้าราชการที่รับราชการและดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข้าราชการฝ่ายศาลรัฐธรรมนูญ แบ่งออกเป็น

  • ข้าราชการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ ข้าราชการที่มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีในศาลรัฐธรรมนูญ
  • ข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คือ ข้าราชการที่ทำหน้าที่ด้านธุรการในสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

ข้าราชการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ข้าราชการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คือ ข้าราชการในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งได้รับบรรจุ และแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554 โดยการกำหนดตำแหน่งและการให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำ ตำแหน่งของข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบ ข้าราชการพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับข้าราชการพลเรือนสามัญมาใช้บังคับ โดยอนุโลม ทั้งนี้ คำว่า “ก.พ.” ให้หมายถึง คณะกรรมการ ป.ป.ช. และ คำว่า “ส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมและมีหัวหน้าส่วนราชการรับผิดชอบ ในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี” ให้หมายถึงสำนักงาน ป.ป.ช. ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ข้าราชการในสายกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ข้าราชการซึ่งปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย และข้าราชการทั่วไป ซึ่งแบ่งเป็น ประเภทวิชาการ และประเภททั่วไป

ข้าราชการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

ข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร คือ บุคคลซึ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณหมวดเงินเดือนของกรุงเทพมหานคร หรือจากเงินงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนของรัฐบาลที่ให้แก่กรุงเทพมหานครนำมาจัดเป็นเงินเดือนของข้าราชการกรุงเทพมหานคร แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ
  • ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร (เดิมเรียกว่า”ข้าราชการครูกรุงเทพมหานคร”) คือ ข้าราชการที่รับราชการในสถานศึกษาของกรุงเทพมหานคร
  • ข้าราชการกรุงเทพมหานครในสถาบันอุดมศึกษา คือ ข้าราชการที่รับราชการในสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดหรือในกำกับของกรุงเทพมหานคร (มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช)

บุคลากรกรุงเทพมหานคร คือ ลูกจ้างกรุงเทพมหานครและพนักงานกรุงเทพมหานคร

  • ลูกจ้างกรุงเทพมหานคร คือ บุคคลซึ่งได้รับการแต่งต้งให้ปฏิบัติงานของกรุงเทพมหานครโดยได้รับค่าจ้างจากเงินงบประมาณหมวดค่าจ้างของกรุงเทพมหานครหรือจากเงินงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนของรัฐบาลที่ให้แก่กรุงเทพมหานครและกรุงเทพมหานครนำมาจัดเป็นค่าจ้างของลูกจ้างกรุงเทพมหานคร
  • พนักงานกรุงเทพมหานคร คือ บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างโดยได้รับค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณหมวดค่าตอบแทนของกรุงเทพมหานคร

ข้าราชการส่วนท้องถิ่น

ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2500 มาตรา 4 “ข้าราชการส่วนท้องถิ่น หมายความว่า ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด พนักงานเทศบาล พนักงานเมืองพัทยา พนักงานส่วนตำบล ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น แต่ไม่รวมถึงข้าราชการกรุงเทพมหานคร และมาตรา 3 วรรคสอง ตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 “ข้าราชการส่วนท้องถิ่น หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน หรือผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งเรียกชื่ออย่างอื่นขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่มีกฎหมายจัดตั้ง
ตำแหน่งของข้าราชการส่วนท้องถิ่น มี 4 ประเภท ประกอบด้วย

1) ประเภทบริหารท้องถิ่น มี 3 ระดับ ได้แก่

1.1) ระดับต้น

1.2) ระดับกลาง

1.3) ระดับสูง

2) ประเภทอำนวยการท้องถิ่น มี 3 ระดับ ได้แก่

2.1) ระดับต้น

2.2) ระดับกลาง

2.3) ระดับสูง

3) ประเภทวิชาการ มี 4 ระดับ ได้แก่

3.1) ระดับปฏิบัติการ

3.2) ระดับชำนาญการ

3.3) ระดับชำนาญการพิเศษ

3.4) ระดับเชี่ยวชาญ

4) ประเภททั่วไป มี 3 ระดับ ได้แก่

4.1) ระดับปฏิบัติงาน

4.2) ระดับชำนาญงาน

4.3) ระดับอาวุโส

ทั้งนี้ ข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทจะถูกเรียกชื่อ แตกต่างกันไปตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ ข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ปฏิบัติงานในองค์การบริหารส่วนจังหวัด เรียกว่า ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปฏิบัติงานในเทศบาล เรียกว่า พนักงานเทศบาล ข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ปฏิบัติงานในองค์การบริหารส่วนตำบล เรียกว่า พนักงานส่วนตำบล และข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ปฏิบัติงานในเมืองพัทยา เรียกว่า พนักงานเมืองพัทยา ซึ่งเป็นการเรียกชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายจัดตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทนั้น ๆ ทำให้มีผู้เข้าใจผิดว่า พนักงานเทศบาล พนักงานส่วนตำบลและพนักงานเมืองพัทยาไม่ใช่ข้าราชการ ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้วเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว มีฐานะเป็นข้าราชการ เช่นเดียวกัน

ข้าราชการการเมือง

ข้าราชการการเมือง คือ ผู้ที่รับราชการในตำแหน่งทางการเมืองซึ่งแบ่งออกเป็น

  • ข้าราชการการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ ข้าราชการและผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมติของคณะรัฐมนตรี
  • ข้าราชการการเมืองกรุงเทพมหานคร คือ ข้าราชการและผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในการปกครองท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร
  • ข้าราชการการเมืองท้องถิ่น และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น คือ ข้าราชการและผู้ที่ดำรงตำแหน่งราชการทางการเมืองในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

ขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูล : th.wikipedia.org/wiki/ข้าราชการไทย